ข้อบังคับสมาคม

ข้อ 1. สมาคมนี้มีชื่อว่า สมาคมปรัชญาและศาสนาแห่งประเทศไทย

  • ชื่อย่อ ส.ป.ศ.ท
  • ชื่อภาษาอังกฤษ PHILOSOPHY AND RELIGION SOCIETY OF THAILAND
  • ชื่อย่อ P.A.R.S.T

ข้อ 2. เครื่องหมายของสมาคม มีลักษณะรูปวงกลม มีช่อฟ้าอยู่ตรงกลาง รูปดวงอาทิตย์ และรูปนกสองตัว

ข้อ 3. สำนักงานของสมาคม ตั้งอยู่ ณ คณะปรัชญาและศาสนา มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เลขที่ 592 ซอยรามคำแหง 24 แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร

ข้อ 4. วัตถุประสงค์ของสมาคม เพื่อ

4.1)   ส่งเสริมการศึกษา การเรียนการสอน การค้นคว้าวิจัย และการแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นในวิชาปรัชญาและศาสนา
4.2)   เผยแพร่ความรู้ทางปรัชญาและศาสนาแก่สังคม
4.3)   ส่งเสริมวัฒนธรรมอันดีและวิถีชีวิตที่ดีในสังคมไทย
4.4)   เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีในวงการปรัชญาและศาสนา
4.5)   เป็นศูนย์กลางในการติดต่อและประสานงานทางวิชาการในสาขาปรัชญาและศาสนา ภายในประเทศและระหว่างประเทศ
4.6)   สมาคมจะไม่จัดตั้งโต๊ะบิลเลียด หรือเล่นการพนันทุกชนิดในสมาคมอย่างเด็ดขาด
4.7)   สมาคมจะไม่ดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเมือง

หมวดที่ 2 สมาชิก

ข้อ 5. สมาชิกของสมาคมมี 3 ประเภท คือ

5.1)   สมาชิกสามัญรายปีและสมาชิกสามัญตลอดชีพ ได้แก่ ผู้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ ซึ่งได้แสดงความจำนงสมัครเข้าเป็นสมาชิกและคณะกรรมการบริหารสมาคมมีมติรับเป็นสมาชิก

ก. ผู้สำเร็จการศึกษาในสาขาปรัชญาและศาสนา หรือ
ข. ผู้สอนวิชาปรัชญาและศาสนาในมหาวิทยาลัย วิทยาลัย โรงเรียน หรือสถาบันการศึกษาอื่นๆ หรือ
ค. ผู้มีอาชีพหรือตำแหน่งหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับวิชาปรัชญาและศาสนา หรือ
ง. ผู้มีผลงานทางวิชาการเกี่ยวกับปรัชญาและศาสนา หรือ
จ. นักวิชาการในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับวิชาปรัชญาและศาสนาอย่างใกล้ชิด

5.2)   สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ บุคคลผู้ทรงเกียรติ หรือทรงคุณวุฒิ หรือผู้มีอุปการะคุณแก่สมาคม ซึ่งคณะกรรมการลงมติให้เชิญเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3

5.3)   สมาชิกสมทบ ได้แก่ ผู้สนใจในวิชาปรัชญาและศาสนาหรือสถาบันการศึกษา (นิติบุคคล) ที่คณะกรรมการบริหารสมาคมพิจารณารับเป็นสมาชิกสมทบ

ข้อ 6. สมาชิกที่เป็นบุคคลจะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

6.1)   เป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว
6.2)   เป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อย
6.3)   ไม่เป็นโรคที่สังคมรังเกียจ
6.4)   ไม่ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย หรือไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ หรือต้องโทษจำคุก ยกเว้นความผิดฐานประมาท หรือลหุโทษ การต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดในกรณีดังกล่าว จะต้องเป็นในขณะที่สมัครเข้าเป็นสมาชิก หรือในระหว่างที่เป็นสมาชิกของสมาคมเท่านั้น

ข้อ 7. ค่าลงทะเบียน และค่าบำรุงสมาคม

7.1)   สมาชิกสามัญรายปีจะต้องเสียค่าลงทะเบียนครั้งแรก 100 บาท และค่าบำรุงเป็นรายปีๆ ละ 200 บาท
7.2)   สมาชิกสามัญตลอดชีพ เสียค่าบำรุง 5,000 บาทขึ้นไป
7.3)   สมาชิกกิตติมศักดิ์ มิต้องเสียค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมแต่อย่างใดทั้งสิ้น
7.4)   สมาชิกสมทบที่เป็นบุคคล จะต้องเสียค่าลงทะเบียนครั้งแรก 100 บาท และค่าบำรุงรายปีๆ ละ 200 บาท
7.5)   สมาชิกสมทบที่เป็นสถาบันการศึกษา ( นิติบุคคล ) ค่าบำรุงเป็นรายปีๆ ละ 2,000 บาทขึ้นไป

ข้อ 8. การสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม ให้ผู้ประสงค์จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมยื่นใบสมัครตามแบบของสมาคมต่อเลขานุการ โดยมีสมาชิกสามัญรับรองอย่างน้อย 1 คน และให้เลขานุการติดประกาศรายชื่อไว้ ณ สำนักงานของสมาคม เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 วัน เพื่อให้สมาชิกอื่นๆ ของสมาคมจะได้คัดค้านการสมัครนั้น เมื่อครบกำหนดประกาศแล้วให้เลขานุการนำใบสมัครและหนังสือคัดค้านของสมาชิก ( ถ้ามี ) เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาอนุมัติว่าจะรับหรือไม่รับเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม และเมื่อคณะกรรมการพิจารณาการสมัครแล้ว ผลเป็นประการใด ให้เลขานุการเป็นผู้แจ้งให้ผู้สมัครทราบโดยเร็ว

ข้อ 9. ถ้าคณะกรรมการพิจารณาอนุมัติให้รับผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิก ก็ให้ผู้สมัครนั้นชำระเงินค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมให้เสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากเลขานุการ และสมาชิกภาพของผู้สมัคร ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ผู้สมัครได้ชำระเงินค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ถ้าผู้สมัครไม่ชำระเงินค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงภายในกำหนด ก็ให้ถือว่าการสมัครคราวนั้นเป็นอันยกเลิก

ข้อ 10. สมาชิกภาพของสมาชิกกิตติมศักดิ์ ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่หนังสือตอบรับคำเชิญของผู้ที่คณะกรรมการได้พิจารณาลงมติให้เชิญเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมได้มาถึงยังสมาคม

ข้อ 11. สมาชิกภาพของสมาชิกให้สิ้นสุดลงด้วยเหตุดังต่อไปนี้

11.1)   ตายหรือสิ้นสุดการเป็นสถาบันการศึกษา (นิติบุคคล)
11.2)   ลาออก โดยยื่นหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการ และคณะกรรมการได้พิจารณาอนุมัติ และสมาชิกผู้นั้นได้ชำระหนี้สินที่ยังติดค้างอยู่กับสมาคมเป็นที่เรียบร้อย
11.3)   ขาดคุณสมบัติสมาชิก ค้างค่าสมาชิกเกินกว่า 2 ปี
11.4)   ที่ประชุมใหญ่ของสมาคม หรือคณะกรรมการได้พิจาณาลงมติให้ลบชื่อออกจากทะเบียนเพราะสมาชิกผู้นั้นได้ประพฤตินำความเสื่อมเสียมาสู่สมาคม
11.5)   ไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของสมาคม และคณะกรรมการบริหารมีมติให้ออกจากสมาชิกภาพด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของกรรมการที่มาประชุม ให้นายกสมาคมแจ้งเรื่องการที่จะมีการพิจารณาให้ออกจากสมาชิกภาพเป็นหนังสือต่อสมาชิกผู้นั้นก่อนหน้ามีการประชุมนั้นอย่างน้อย 10 วัน เพื่อให้สมาชิกผู้นั้นมีโอกาสชี้แจงต่อคณะกรรมการ
11.6)   มีความประพฤติเสียหายอย่างร้ายแรง ซึ่งที่ประชุมใหญ่มีมติให้ลาออกจากสมาชิกภาพด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของสมาชิกผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงที่มาประชุม

ข้อ 12. สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก

12.1)   มีสิทธิเข้าใช้สถานที่ของสมาคมโดยเท่าเทียมกัน
12.2)   มีสิทธิเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการของสมาคมต่อคณะกรรมการ
12.3)   มีสิทธิได้รับสวัสดิ์การต่างๆ ที่สมาคมได้จัดให้มีขึ้น
12.4)   มีสิทธิเข้าร่วมประชุมใหญ่ของสมาคม
12.5)   สมาชิกสามัญมีสิทธิในการเลือกตั้ง หรือได้รับการเลือกตั้ง หรือแต่งตั้งเป็นกรรมการสมาคม และมีสิทธิออกเสียงลงมติต่างๆ ในที่ประชุมได้คนละ 1 คะแนนเสียง
12.6)   มีสิทธิร้องขอต่อคณะกรรมการ เพื่อตรวจสอบเอกสารและบัญชีทรัพย์สินของสมาคม
12.7)   มีสิทธิเข้าชื่อรวมกันอย่างน้อย 1 ใน 5 ของสมาชิกสามัญทั้งหมด หรือสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่า 100 คน ทำหนังสือร้องขอต่อคณะกรรมการให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญได้
12.8)   มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติ และข้อบังคับของสมาคมโดยเคร่งครัด
12.9)   มีหน้าที่ประพฤติตนให้สมกับเกียรติที่เป็นสมาชิกของสมาคม
12.10) มีหน้าที่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินกิจการต่างๆ ของสมาคม
12.11) มีหน้าที่ร่วมกิจกรรมที่สมาคมได้จัดให้มีขึ้น
12.12) มีหน้าที่ช่วยเผยแพร่ชื่อเสียงของสมาคมให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย
12.13) มีสิทธิเข้าร่วมประชุมทางวิชาการ ฟังการอภิปรายหรือปาฐกถาและร่วมในการสัมมนาหรือการประชุมทางวิชาการที่สมาคมจัดขึ้น
12.14) มีสิทธิเข้าร่วมประชุมใหญ่ อภิปรายในปัญหาหรือญัตติใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับสมาคม
12.15) เฉพาะสมาชิกสามัญ มีสิทธิได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการของสมาคม
12.16) มีสิทธิเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับกิจการของสมาคม ไต่ถามหรือขอดูหลักฐานและบัญชีการเงินต่างๆ ของสมาคม
12.17) มีสิทธิได้รับแต่งตั้งเป็นผู้แทนของสมาคมไปร่วมประชุมทางวิชาการ ตามที่คณะกรรมการบริหารสมาคมเห็นชอบและอนุมัติ
12.18) มีสิทธิได้รับเอกสารทางวิชาการของสมาคมและบริการอื่นๆ ที่สมาคมอำนวยให้

หมวดที่ 3 การดำเนินกิจการสมาคม

ข้อ 13. ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง ทำหน้าที่บริหารกิจการของสมาคม มีจำนวนอย่างน้อย 8 คน อย่างมากไม่เกิน 15 คน คณะกรรมการนี้ ได้มาจากการเลือกตั้งของที่ประชุมใหญ่ของสมาคม และให้ผู้ที่ได้เลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่ เลือกตั้งกันเองเป็นนายกสมาคม 1 คน และอุปนายก 1 คน สำหรับตำแหน่งกรรมการในตำแหน่งอื่นๆ ให้นายกเป็นผู้แต่งตั้งผู้ที่ได้รับเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่เข้าดำรงตำแหน่งต่างๆ ของสมาคมตามที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งตำแหน่งของกรรมการสมาคมมีตำแหน่งและหน้าที่โดยสังเขปดังต่อไปนี้

13.1) นายกสมาคม ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าในการบริหารกิจการของสมาคม เป็นผู้แทนสมาคมในการติดต่อกับบุคคลภายนอก และทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการและการประชุมใหญ่ของสมาคม
13.2) อุปนายก ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยนายกสมาคมในการบริหารกิจกรรมสมาคม ปฏิบัติตามหน้าที่ที่นายกสมาคมได้มอบหมาย และทำหน้าที่แทนนายกสมาคมเมื่อนายกสมาคมไม่อยู่ หรือไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่การทำหน้าที่แทนนายกสมาคม ให้อุปนายกตามลำดับตำแหน่ง เป็นผู้กระทำการแทน
13.3 ) เลขานุการ ทำหน้าที่เกี่ยวกับงานธุรการของสมาคมทั้งหมด เป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ของสมาคมในการปฏิบัติกิจการของสมาคม และปฏิบัติตามคำสั่งของนายกสมาคม ตลอดจนทำหน้าที่เป็นเลขานุการในการประชุมต่างๆ ของสมาคม
13.4 ) เหรัญญิก มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินทั้งหมดของสมาคม เป็นผู้จัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย บัญชีงบดุลของสมาคม และเก็บเอกสารหลักฐานต่างๆ ของสมาคมไว้เพื่อตรวจสอบ
13.5 ) ปฏิคม มีหน้าที่ในการให้การต้อนรับแขกของสมาคม เป็นหัวหน้าในการจัดเตรียมสถานที่ของสมาคม และจัดเตรียมสถานที่ประชุมต่างๆ ของสมาคม
13.6 ) นายทะเบียน มีหน้าที่เกี่ยวกับทะเบียนสมาชิกทั้งหมดของสมาคม ประสานงานกับเหรัญญิกในการเรียกเก็บเงินค่าบำรุงสมาคมจากสมาชิก
13.7 ) ประชาสัมพันธ์ มีหน้าที่เผยแพร่กิจการและชื่อเสียงเกียรติคุณของสมาคมให้สมาชิกและบุคคลโดยทั่วไปให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย
13.8 ) กรรมการตำแหน่งอื่นๆ ตามความเหมาะสม ซึ่งคณะกรรมการเห็นสมควรกำหนดขึ้น โดยมีจำนวนเมื่อรวมกับตำแหน่งกรรมการตามข้างต้นแล้ว จะต้องไม่เกินจำนวนที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้ แต่ถ้าคณะกรรมการมิได้กำหนดตำแหน่งก็ถือว่าเป็นกรรมการกลาง

  • คณะกรรมการชุดแรก ให้ผู้เริ่มการจัดตั้งสมาคมเป็นผู้เลือกตั้ง ประกอบด้วยนายกสมาคมและกรรมการอื่นๆ ตามจำนวนที่เห็นสมควรตามข้อบังคับของสมาคม

ข้อ 14. คณะกรรมการของสมาคมสามารถอยู่ในตำแหน่งได้คราวละ 3 ปี และเมื่อคณะกรรมการอยู่ตำแหน่งครบกำหนดตามวาระแล้ว แต่คณะกรรมการชุดใหม่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการ ก็ให้คณะกรรมการที่ครบกำหนดตามวาระรักษาการไปพลางก่อน จนกว่าคณะกรรมการชุดใหม่จะได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการ และเมื่อคณะกรรมการชุดใหม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ให้ทำการส่งและรับมอบงานกันระหว่างคณะกรรมการชุดเก่าและคณะกรรมการชุดใหม่ให้เป็นที่เสร็จสิ้นภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการชุดใหม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการ

ข้อ 15. ตำแหน่งกรรมการสมาคม ถ้าต้องว่างลงก่อนครบกำหนดตามวาระก็ให้คณะกรรมการแต่งตั้งสมาชิกสามัญคนใดคนหนึ่งที่เห็นสมควร เข้าดำรงตำแหน่งแทนตำแหน่งที่ว่างลงนั้น แต่ผู้ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งได้เท่ากับวาระของผู้ที่ตนแทนเท่านั้น

ข้อ 16. กรรมการอาจจะพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งมิใช่เป็นการออกตามวาระด้วยเหตุผลต่อไปนี้ คือ

16.1)  ตาย
16.2)  ลาออก
16.3)  ขาดจากสมาชิกภาพ
16.4)  ที่ประชุมใหญ่ลงมติให้ออกจากตำแหน่ง

ข้อ 17. กรรมการที่ประสงค์จะลาออกจากตำแหน่งกรรมการให้ยื่นใบลาออกเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการ และให้พ้นจากตำแหน่งเมื่อคณะกรรมการมีมติให้ออก

ข้อ 18. อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการ

18.1)  มีอำนาจออกระเบียบปฏิบัติต่างๆ เพื่อให้สมาชิกได้ปฏิบัติ โดยระเบียบปฏิบัตินั้นจะต้องไม่ขัดต่อข้อบังคับฉบับนี้
18.2)  มีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนเจ้าหน้าที่ของสมาคม
18.3)  มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการที่ปรึกษา หรืออนุกรรมการได้ แต่กรรมการที่ปรึกษา หรืออนุกรรมการ จะสามารถอยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกินวาระของคณะกรรมการที่แต่งตั้ง
18.4)  มีอำนาจเรียกประชุมใหญ่สามัญประจำปี และประชุมใหญ่วิสามัญ
18.5)  มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการในตำแหน่งอื่นๆ ที่ยังมิได้กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้
18.6)  มีอำนาจบริหารกิจการของสมาคม เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตลอดจนมีอำนาจอื่นๆ ตามที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้
18.7)  มีหน้าที่รับผิดชอบในกิจการทั้งหมด รวมทั้งการเงิน และทรัพย์สินทั้งหมดของสมาคม
18.8)  มีหน้าที่จัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญ ตามที่สมาชิกสามัญจำนวน 1 ใน 3 ของสมาชิกทั้งหมดได้เข้าชื่อร้องขอให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญขึ้น ซึ่งการนี้จะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญขึ้นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือร้องขอ
18.9)  มีหน้าที่จัดทำเอกสารหลักฐานต่างๆ ทั้งที่เกี่ยวกับการเงิน ทรัพย์สิน และการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของสมาคม ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการและสามารถจะให้สมาชิกตรวจดูได้เมื่อสมาชิกร้องขอ
18.10) จัดทำบันทึกการประชุมต่างๆ ของสมาคม เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน และจัดส่งให้สมาชิกได้รับทราบ
18.11) มีหน้าที่อื่นๆ ตามที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้

ข้อ 19. คณะกรรมการจะต้องประชุมกันอย่างน้อย 4 เดือนครั้ง โดยให้จัดขึ้นภายในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนที่ 4

ข้อ 20. การประชุมคณะกรรมการ จะต้องมีกรรมการเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดจึงจะถือว่าครบองค์ประชุม มติของที่ประชุมคณะกรรมการ ถ้าข้อบังคับมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ก็ให้ถือคะแนนเสียงมากเป็นเกณฑ์ แต่ถ้าคะแนนเสียงเท่านั้น ก็ให้ประธานในการประชุมเป็นผู้ชี้ขาด

ข้อ 21. ในการประชุมคณะกรรมการ ถ้านายกสมาคมและอุปนายกสมาคมไม่อยู่ในที่ประชุม หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้กรรมการที่เข้าประชุมในคราวนั้นเลือกตั้งกันเอง เพื่อให้กรรมการคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมคราวนั้น

หมวดที่ 4 การประชุมใหญ่

ข้อ 22. การประชุมใหญ่ของสมาคม 2 ชนิด คือ

22.1)  ประชุมใหญ่สามัญ
22.2)  ประชุมใหญ่วิสามัญ

ข้อ 23. คณะกรรมการจะต้องจัดให้มีการประชุมสามัญประจำปีๆ ละ 1 ครั้ง ภายในเดือนตุลาคม ของทุกๆ ปี

ข้อ 24. การประชุมใหญ่วิสามัญ อาจจะมีขึ้นได้ก็โดยเหตุที่คณะกรรมการเห็นควรจัดให้มีขึ้น หรือเกิดขึ้นด้วยการเข้าชื่อร่วมกันของสมาชิกไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสมาชิกสามัญทั้งหมด หรือสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่า 100 คน ทำหนังสือร้องขอต่อคณะกรรมการให้จัดให้มีขึ้น

ข้อ 25. การแจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ ให้เลขานุการเป็นผู้แจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ให้สมาชิกได้ทราบ และการแจ้งจะต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร โดยระบุวัน เวลา และสถานที่ให้ชัดเจน โดยจะต้องแจ้งให้สมาชิกได้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน และประกาศแจ้งกำหนดนัดประชุมไว้ ณ สำนักงานของสมาคมเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 7 วัน ก่อนถึงกำหนดการประชุมใหญ่

ข้อ 26. การประชุมใหญ่สามัญประจำปี จะต้องมีวาระการประชุมอย่างน้อยดังต่อไปนี้

26.1)  แถลงกิจการที่ผ่านมาในรอบปี
26.2)  แถลงบัญชีรายรับรายจ่าย และบัญชีงบดุลของปีที่ผ่านมา ให้สมาชิกรับทราบ
26.3)  เลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ เมื่อครบกำหนดวาระ
26.4)  เลือกตั้งผู้สอบบัญชี
26.5)  เรื่องอื่นๆ ถ้ามี

ข้อ 27. ในการประชุมสามัญประจำปี หรือการประชุมใหญ่วิสามัญ จะต้องมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดจึงจะถือว่าครบองค์ประชุม แต่ถ้าเมื่อถึงกำหนดเวลาประชุมยังมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่ครบองค์ประชุม ให้คณะกรรมการของสมาคมเรียกประชุมใหญ่อีกครั้งหนึ่ง โดยจัดให้มีการประชุมขึ้นภายใน 14 วันนับแต่วันที่นัดประชุมครั้งแรก สำหรับการประชุมในครั้งหลังนี้ ถ้ามีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนเท่าใด ก็ให้ถือว่าครบองค์ประชุม ยกเว้นถ้าเป็นการประชุมใหญ่วิสามัญที่เกิดขึ้นจากการร้องขอของสมาชิก ก็ไม่ต้องจัดประชุมใหญ่ ให้ถือว่าการประชุมเป็นอันยกเลิก

กรณีสมาชิกสามัญท่านใดไม่สามารถเข้าร่วมประชุมดังกล่าวในวรรคหนึ่งได้ สมาชิกท่านนั้นสามารถมอบฉันทะให้สมาชิกอื่นที่เข้าร่วมประชุมลงคะแนนแทนได้ โดยเสมือนว่าผู้มอบฉันทะนั้นเข้าร่วมประชุมด้วย

ข้อ 28. การลงมติต่างๆ ในที่ประชุม ถ้าข้อบังคับได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ก็ให้ถือคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ แต่ถ้าคะแนนเสียงที่ลงมติมีคะแนนเสียงเท่ากัน ก็ให้ประธานในการประชุมเป็นผู้ชี้ขาด

ข้อ 29. ในการประชุมใหญ่ของสมาคม ถ้านายกสมาคมและอุปนายกสมาคมไม่มาร่วมประชุม หรือไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้ที่ประชุมใหญ่ทำการเลือกตั้งกรรมการที่มาร่วมประชุมคนใดคนหนึ่งให้ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมคราวนั้น

หมวดที่ 5 การเงินและทรัพย์สิน

ข้อ 30. การเงินและทรัพย์สินทั้งหมดให้อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการเงินสดของสมาคม ถ้ามีให้นำฝากไว้ในธนาคารไทยพาณิชย์ สาขารามคำแหง ซอย 24 ผู้มีอำนาจลงนามเบิกเงินสด ได้แก่ นายกสมาคม อุปนายกสมาคม และเหรัญญิกสมาคม ผู้มีอำนาจลงนามมี 2 ใน 3 โดยมีนายกสมาคมเป็นผู้มีอำนาจหลัก

ข้อ 31. การลงนามในตั๋วเงินหรือเช็คของสมาคม จะต้องมีลายมือชื่อของนายกสมาคม หรือผู้ทำการแทนนามร่วมกับเหรัญญิก หรือเลขานุการ พร้อมกับประทับตราของสมาคมจึงจะถือว่าใช้ได้

ข้อ 32. ให้นายกสมาคมมีอำนาจสั่งจ่ายเงินของสมาคมได้ครั้งละไม่เกิน 10,000 บาท ( หนึ่งหมื่นบาทถ้วน ) ถ้าเกินกว่านั้นจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ และคณะกรรมการจะอนุมัติให้จ่ายเงินได้ครั้งละไม่เกิน 20,000 ( สองหมื่นบาทถ้วน ) ถ้าจำเป็นจะต้องจ่ายเกินกว่านี้ ต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่ของสมาคม

ข้อ 33. ให้เหรัญญิกมีอำนาจเก็บรักษาเงินสดของสมาคมได้ไม่เกิน 5,000 บาท ( ห้าพันบาทถ้วน ) ถ้าเกินกว่าจำนวนนี้ จะต้องนำฝากธนาคารในบัญชีของสมาคมทันทีที่โอกาสอำนวยให้

ข้อ 34. เหรัญญิกจะต้องทำบัญชีรายรับรายจ่าย และบัญชีงบดุล ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ การรับหรือจ่ายเงินทุกครั้ง จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อของสมาคมหรือผู้ทำการแทนร่วมกับเหรัญญิกหรือผู้ทำการแทน พร้อมกับประทับตราของสมาคมทุกครั้ง

ข้อ 35. ผู้สอบบัญชีจะต้องมิใช่กรรมการหรือเจ้าหน้าที่ของสมาคม และจะต้องเป็นผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาต

ข้อ 36. ผู้สอบบัญชีมีอำนาจหน้าที่จะเรียกเอกสารที่เกี่ยวกับการเงิน และทรัพย์สินจากคณะกรรมการ และสามารถจะเชิญกรรมการ หรือเจ้าหน้าที่ของสมาคมเพื่อสอบถามเกี่ยวกับบัญชีและทรัพย์สินของสมาคมได้

ข้อ 37. คณะกรรมการจะต้องให้ความร่วมมือกับผู้สอบบัญชี เมื่อได้รับการร้องขอ

หมวดที่ 6 การเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับและการเลิกสมาคม

ข้อ 38. ข้อบังคับของสมาคมจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้โดยมติของที่ประชุมใหญ่เท่านั้น และองค์ประชุมใหญ่จะต้องมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกสามัญทั้งหมด มติของที่ประชุมใหญ่ในการให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับ จะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกสามัญที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด

ข้อ 39. การเลิกสมาคมจะเลิกได้ก็โดยมติของที่ประชุมใหญ่ของสมาคม ยกเว้นเป็นการเลิกเพราะเหตุของกฎหมาย มติของที่ประชุมใหญ่ที่ให้เลิกสมาคมจะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของสมาชิกสามัญที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด และองค์ประชุมใหญ่จะต้องไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกสามัญทั้งหมด

ข้อ 40. เมื่อสมาคมต้องเลิก ไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ ก็ตาม ทรัพย์สินของสมาคมที่เหลืออยู่หลังจากที่ได้ชำระบัญชีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ให้ตกเป็นของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เพื่อเป็นกองทุนส่งเสริมนักศึกษาหรือผู้ทำวิจัยด้านปรัชญาและศาสนา

หมวดที่ 7 บทเฉพาะกาล

ข้อ 41. ข้อบังคับฉบับนี้นั้นให้เริ่มใช้บังคับได้นับตั้งแต่วันที่สมาคมได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเป็นต้นไป

ข้อ 42. เมื่อสมาคมได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลจากทางราชการ ก็ให้ถือว่าผู้เริ่มการทั้งหมดเป็นสมาชิกสามัญ